ตำบลเขาหลวง ได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2518 แยกการปกครองออกมาจากตำบลนองงิ้ว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยได้รับการยกฐานะจากสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่ 18 เดือนมีนาคม พ.ศ.2539 และได้ปรับขนาดองค์การบริหารส่วนตำบลจากขนาดเล็กเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง เมื่อ พ.ศ. 2552 ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตามการจัดแบ่งส่วนราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกำหนดให้มีหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมและหน้าที่อื่นตามกฎหมายกำหนด และนับแต่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา บทบาทอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดความเป็นอิสระในการปกครองของตนเองตามเจตนารมณ์ ของประชาชนและความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายการปกครอง การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลังและมีหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะนอกจากนี้ตาม พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ได้บัญญัติให้มีองค์กรรับผิดชอบในการจัดทำแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำหนดหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการให้บริการสาธารณะที่จำเป็นแก่ท้องถิ่น ตลอดจนรายได้ของท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ได้กำหนดรูปแบบการบริหารบุคคลส่วนท้องถิ่นให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น นอกจากกฎหมายทั้งสองฉบับแล้วยังมีกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง เช่น
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อมูลบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ.2542
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2542
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542
ทำให้เห็นได้ว่า มีการกำหนดตัวบทกฎหมายและกลไกทางกฎหมาย เพื่อให้กระจายอำนาจเป็นไปโปร่งใสและสามารถถูกตรวจสอบจากประชาชนและองค์กรต่างๆ ตามกฎหมายบัญญัติไว้
ดังนั้น ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง จึงมีบทบาทอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวาง โดยมิได้มีหน้าที่เพียงในการบริหารด้านสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานแก่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังขยายบทบาทหน้าที่ออกไปรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขององค์การบริหารส่วนตำบลอีกด้วย และเป็นองค์กรที่เปิดให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารและการตรวจสอบการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น
|